บุโรพุทโธ ( Borobudur )

บุโรพุทโธ ( Borobudur ) บุโรพุทโธ หรือ บูโรบูดูร์ หรือ ที่ชาวชวาเขียนว่าบาราบูดูร์ (Barabudur)  เป็นภาษาสันสกฤต โดยคำว่า  Bara  มาจากคำว่า Biara  มีความหมายถึงวิหาร (Vihara) หรือวัด ส่วนคำว่า Budur มีความหมายว่า  ภูเขาสูงเมื่อรวมกันจึงหมายถึง วิหารที่สร้างขึ้นบนภูเขาสูง 




บุโรพุทโธคือสถาปัตยกรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของศาสนาพุทธลัทธิมหานยานที่มีชื่อเสียงมากกว่าเป็นพุทธศาสนาที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก  กษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทราแห่งชวาเป็นผู้กำหนดให้ก่อสร้างขึ้น ด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อพระพุทธเจ้า  บุโรพุทโธจึงเป็นศูนย์รวมใจชาวพุทธในชวารวมทั้งชาวเอเชียในซีกโลกตะวันออก  และนับเป็นสถาปัตยกรรมที่เชิดหน้าชูตาอินโดนีเซียมากที่สุดมาทุกยุคทุกสมัย
บุโรพุทโธตั้งอยู่ในชวาภาคกลาง  ห่างจากเมืองย็อกยาหรือย็อกยาการ์ตาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตรเศษ เป็นสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยหินแอนดีไซต์ (Andesite) ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟขนาดใหญ่มหึมา  บุโรพุทโธตั้งอยู่บนเนินดินธรรมชาติที่อยู่สูงกว่าระดับพื้นดินประมาณ 15 เมตร  รูปทรงภายนอกเป็นรูปทรงดอกบัวอันเป็นสัญลักษณ์ชองพุทธศาสนา  ดอกบัวขนาดมหึมานี้ลอยอยู่ในบึงใหญ่  ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์  โบราณสถานแห่งนี้และบริเวณรอบๆ เป็นที่ลุ่มและถูกล้อมรอบด้วยน้ำที่ท่วมมาจากแม่น้ำโปรโก (Progo River) ทำให้เจดีย์โบราณบุโรพุทโธเป็นเสมือนดอกบัวลอยอยู่ในน้ำ
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ของบุโรพุทโธแสดงออกถึงความเป็นอัจฉริยะสูงสุดทางศิลปะสมัยไศเลนทรา  ที่ต่างไปจากโบราณสถานทุกแห่งในชวา ประวัติการก่อสร้างมีอยู่ว่า  ในปี ค.ศ. 732  กษัตริย์ชวาราชวงศ์สัญชัย (Sanjaya) ซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู)  ที่มาจากอินเดียในยุคนั้น  ราชวงศ์ไศเลนทรานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน  จึงก่อสร้างโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ไว้หลายแห่ง  ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือเจดีย์บุโรพุทโธซึ่งกษัตริย์วิษณุแห่งราชวงศ์ไศเลนทราทรงเริ่มสร้างขึ่นในปี ค.ศ. 775 จนกระทั่งมาเสร็จสมบูรณ์ในสมัยของกษัตริย์อินทราเมื่อปี ค.ศ. 847 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 70 ปีเศษ
ความมหัศจรรย์ของบุโรพุทโธเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ด้วยรูปแบบและรายละเอียดของศิลปะจากความคิดของช่างในสมัยนั้นโดยสร้างตามแบบศิลปะฮินดู-ชวา  หรือ ศิลปะชวาภาคกลาง ที่ผสมผสานศิลปะระหว่างอินเดียกับอินโดนีเซียเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน
บุโรพุทโธสร้างขึ้นก่อนปราสาทนครวัดของกัมพูชาประมาณ 300 ปี  ทำเลที่ตั้งเป็นเนินเขากว้างใหญ่  จำลองมาจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนาไหลมาบรรจบกันเช่นที่ประเทศอินเดีย  ต้นกำเนิดแห่งศาสนาพุทธบริเวณที่มีแม่น้ำ 2 สายไหลผ่าน  นั่นก็คือแม่น้ำโปรโกและแม่น้ำอีโล 
บุโรพุทโธมีลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมคือ เป็นสถูปตั้งอยู่บนพีระมิดทรงขั้นบันได  มีความสูงกว่า 42 เมตรจากฐานชั้นล่าง
บุโรพุทโธมีทั้งหมด 10 ชั้น  ซึ่งแต่ละชั้นจะมีภาพสลักนูนต่ำแสดงคติธรรมทางพุทธศาสนาด้วยทัศนคติเกี่ยวกับจักรวาลตามพุทธศาสนาและการเข้าสู่นิพพาน 6 ชั้นนับจากฐานเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมแบบย่อมุม  คล้ายพีระมิดขั้นบันไดชั้นที่ 7 เป็นฐานวงกลมขนาดใหญ่  ขึ้นไปอีก 3 ชั้น ประดับเจดีย์ทรงระฆังโปร่งฉลุลายเป็นรูปสี่แหลี่ยมข้าวหลามตัด  ครอบองค์พระพุทธรูปองค์เล็กข้างใน ส่วนนี้ มีความเชื่อกันว่าหากยื่นมือไปจนถึงและสัมผัสพระพุทธรูปภายในได้พร้อมอธิษฐานแล้วจะสมหวังและโชคดี  เจดีย์เหล่านี้มีจำนวน 72 องค์ เรียงเป็นแนวล้อมรอบสถูปของชั้นที่ 10 ซึ่งมีลักษณะเป็นฐานวงกลมใหญ่ของเจดีย์องค์ประธานสูง 150 ฟุต  เดิมเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ข้างใน  แต่ปัจจุบันว่างเปล่า
บุโรพุทโธเปรียบเสมือนศูนย์กลางของจักรวาล แบ่งได้เป็น 3 ชั้น คือ ส่วนฐานของเจดีย์เป็นขั้นบันไดใหญ่ 4 ขั้น โดยรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมกำแพงรอบฐานมีภาพสลักนูนต่ำราว 160 ภาพอยู่ในส่วนกามาฐานหรือขั้นที่มนุษย์ยังผูกพันอย่างใกล้ชิดกับความสุขทางโลกและถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหา ส่วนที่ 2 คือส่วนบนของฐานที่มีขั้นบันไดรูปกลม ฐาน 6 ขั้นที่มีรูปสลักนูนต่ำเกือบ 1,400 ภาพ  ที่แสดงพุทธประวัติ ถือเป็นขั้นรูปธาตุ  หรือ ขั้นที่มนุษย์หลุดพ้นจากกิเลส ทางโลกมาได้บางส่วน  และส่วนที่ 3 คือส่วนของฐานกลมที่มีเจดีย์เล็กๆ 3 ชั้นล้อมรอบสถูปองค์ใหญ่ที่สุด  หมายถึงจักรวาล  คือ ขั้นอธูปธาตุ  ที่มนุษย์ไม่ผูกพันกับทางโลกอีกต่อไป ในชั้นอธูปธาตุนี้สร้างเป็นฐานระเบียงวงกลม 3 ชั้นมีเจดีย์ทรงระฆังโปร่งฉลุลายเป็นช่องสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเรียงรายโดยรอบ  ชั้นบนสุดเป็นฐานวงกลมใหญ่ของเจดีย์องค์ประธาน  ตั้งอยู่กึ่งกลางของสถูป ด้วยลักษณะของเขาพระสุเมรุมาตามปรัชญาทางศาสนาที่ว่าพื้นฐานเจดีย์คือ โลกมนุษย์ที่ยังเต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ส่วนยอดสูงสุดคือ ชั้นสรวงสวรรค์หรือนิพพานในคติความเชื่อของศานาพุทธ
บุโรพุทโธถูกทิ้งร้างเป็นป่ารกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19  และประสบกับภัยธรรมชาติคือแผ่นดินไหว  จนจมอยู่ใต้เถ้าถ่านของภูเขาไฟซึ่งระเบิดอย่างต่อเนื่อง  กระทั่งศตวรรษที่ 20 ยังเกิดน้ำท่วมซ้ำจากเหตุการณ์ฝนตกต่อเนื่องจนจมอยู่ในน้ำลึกถึง 3 เมตร  เป็นเหตุให้ดินภูเขาไฟที่ครอบสถูปบุโรพุทโธอยู่ชื้นแฉะจนทรุดตัว  ทำให้โบราณสถานแห่งนี้ทรุดตัวตามไปด้วย  กระทั้งสแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์  ผู้ถูกส่งมาประจำการเป็นผู้สำเร็จราชการของอังกฤษเพื่อปกครองอาณานิคมชวาในช่วงนั้น ได้เห็นความสำคัญของบุโรพุทโธจึงเริ่มบูรณะขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1855 และสามารถเริ่มเปิดให้ผู้คนทั่วโลกเข้ามาเยี่ยมชม ต่อมาอินโดนีเซียได้ขอความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโกในการบูรณะอย่างละเอียดอีกหลายครั้ง  เพื่อที่จะแก้ปัญหาโครงสร้างที่เป็นโพรงเพราะภูเขาดินภายในทรุดถล่มจากสาเหตุอุทกภัย  การบูรณะแล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1983 ด้วยงบประมาณ 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในบริเวณบุโรพุทโธมีพิพิธภัณฑ์เก็บข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การก่อสร้างและความเป็นมาเมื่อองค์การยูเนสโกของสหประชาชาติเข้าไปช่วยบำรุงรักษาบุโรพุทโธไว้เพื่อไม่ให้ล่มสลายไปกับกาลเวลา  รวมทั้งภัยที่เกิดจากน้ำท่วมขังเนื่องจากการก่อสร้างบุโรพุทโธเดิมไม่มีการวางระบบระบายน้ำที่ดีพอ  ทำให้พุทธสถานแห่งนี้ทรุดลงเรื่อยๆ  ยูเนสโก้เข้าไปจัดการทำช่องทางระบายน้ำและเสริมฐานเจดีย์ให้แข็งแรงมั่นคงขึ้นนอกจากพิพิธภัณฑ์นี้แล้ว ยังมีรถไฟเล็กบริการพาชมบริเวณรอบๆ  บุโรพุทโธทุกๆ 10 นาที ค่ารถไฟคนละ 1,000 รูเปียห์  คงเป็นการดีหากมีโอกาสไปเยือนพุทธศาสนาสถานแห่งนี้ในวันวิสาชบูชา  เพราะจะมีพระสงฆ์และนักแสวงบุญทั่วสารทิศมาแสวงบุญโดยการเดินทักษิณาวัตรตั้งแต่ประตูใหญ่ด้านทิศตะวันออกซึ่งกว่าจะถึงยอดก็รวมระยะทางทั้งสิ้นราว 5 กิโลเมตรนับเป็นภาพที่งดงามจับตามากสำหรับศาสนิกชนชาวไทย


บรมพุทโธได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัย สามัญครั้งที่ 15 ภายใต้ชื่อ "กลุ่มวัดบรมพุทโธ" เมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
  • (i) - เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาด ของมนุษย์
  • (ii) - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
  • (iv) - เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนา ทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ




แหล่งข้อมูลจาก
- หนังสือคู่มือนักเดินทางฉบับพกพา อินโดนีเซีย หนังสือในเครือ เที่ยวรอบโลก
- ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org
- รูปภาพโดย www.tripdeedee.com